ข้ามไปเนื้อหา

รีตา เลวี-มอนตัลชีนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รีตา เลวี-มอนตัลชีนี
รีตา เลวี-มอนตัลชีนี เมื่อปี ค.ศ. 2009
เกิด22 เมษายน ค.ศ. 1909(1909-04-22)
ตูริน อิตาลี
เสียชีวิต30 ธันวาคม ค.ศ. 2012(2012-12-30) (103 ปี)
โรม อิตาลี
สัญชาติอิตาลี
มีชื่อเสียงจากการค้นพบโกรทแฟคเตอร์
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาประสาทชีววิทยา

รีตา เลวี-มอนตัลชีนี (อิตาลี: Rita Levi-Montalcini; 22 เมษายน ค.ศ. 1909 – 30 ธันวาคม ค.ศ. 2012) เป็นนักประสาทชีววิทยาชาวอิตาลี เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ร่วมกับสแตนลีย์ โคเฮน ในปี ค.ศ. 1986 สำหรับการค้นพบโกรทแฟคเตอร์ นอกจากนี้ เลวี-มอนตัลชีนี ยังเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลโนเบลคนแรกที่มีอายุยืนกว่าหนึ่งร้อยปี[2][3]

ประวัติ

[แก้]

รีตา เลวี-มอนตัลชีนี เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1909 ที่เมืองตูริน เป็นบุตรคนสุดท้องจากจำนวนพี่น้องทั้งหมดสี่คนของครอบครัวชาวยิวเซฟาร์ดีที่มีฐานะ[4] บิดาเป็นวิศวกรไฟฟ้าและนักคณิตศาสตร์ ส่วนมารดาเป็นจิตรกร เธอมีพี่น้องฝาแฝดชื่อเปาลา[5] เมื่อเป็นวัยรุ่น เลวี-มอนตัลชีนีอยากเป็นนักเขียน เพราะชื่นชอบผลงานของเซลมา ลอเกร์เลิฟ[6] แต่ต่อมาเปลี่ยนใจไปเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยตูริน เมื่อเรียนจบ เธอทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ แต่ถูกบีบให้ออกจากงานเมื่อมุสโสลินีขึ้นปกครองประเทศ และมีนโยบายกีดกันชาวยิว

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เลวี-มอนตัลชีนีทำการทดลองที่บ้าน และศึกษาการเจริญของเส้นใยประสาทจากเอ็มบริโอของไก่ ต่อมาเมื่อนาซีเยอรมนียึดครองอิตาลี ครอบครัวของเธอก็ย้ายไปอยู่ที่ฟลอเรนซ์ และย้ายกลับไปตูรินเมื่อสงครามสิ้นสุด ในปี ค.ศ. 1946 เลวี-มอนตัลชีนีตอบรับคำเชิญจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ และทำงานเป็นรองศาสตราจารย์ที่นั่น ในปี ค.ศ. 1952 เธอค้นพบโกรทแฟคเตอร์[7] ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีส่วนสำคัญต่อการเจริญของเซลล์ประสาท เธอได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในเวลาต่อมา และได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านประสาทชีววิทยาที่กรุงโรม ในปี ค.ศ. 1986 เลวี-มอนตัลชีนีและสแตนลีย์ โคเฮน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ จากการค้นพบดังกล่าว

ในปี ค.ศ. 2001 เลวี-มอนตัลชีนีได้รับแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกตลอดชีพ (Senator for Life) จากประธานาธิบดี คาร์โล อะเซกลิโอ เคียมปี[8] เธอเสียชีวิตที่กรุงโรม ในปี ค.ศ. 2012 ขณะมีอายุได้ 103 ปี

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Fellowship of the Royal Society 1660-2015". London: Royal Society. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-15. สืบค้นเมื่อ 2016-02-17.
  2. Abbott, Alison (2009-04-01). "Neuroscience: One hundred years of Rita". Nature (ภาษาอังกฤษ). 458 (7238): 564–567. doi:10.1038/458564a. ISSN 1476-4687.
  3. "The Nobel Prize in Physiology or Medicine 1986". NobelPrize.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. "Rita Levi-Montalcini". The Economist. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
  5. Carey, Benedict (30 December 2012). "Dr. Rita Levi-Montalcini, Nobel Winner, Dies at 103". The New York Times.
  6. Krause-Jackson, Flavia; Martinuzzi, Elisa (30 December 2012). "Levi-Montalcini, Italian Nobel Laureate, Dies at 103". Bloomberg.
  7. "Nobel-winning scientist Levi-Montalcini dies in Rome at 103, biologist studied growth factor". Fox News Channel. 30 December 2012. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2012.
  8. "senato.it - Scheda di attività di Rita LEVI-MONTALCINI - XVI Legislatura". www.senato.it.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]